วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

กุ้งเครฟิช !!!

                                                                    







                                                                          บทที่1 เครฟิชคืออะไร

Crayfish จัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์ที่เรียกว่า ครัสเตเซี่ยน (Crustaceans) และเป็นสมาชิกของไฟลั่ม อาโทรพอด (Arthropoda) ซึ่งในไฟลั่มนี้สมาชิกอื่นๆอย่าง แมลง (Insecta), แมงมุม (Arachnida), ตะขาบและกิ้งกือ (Myriapoda) สมาชิกไฟลั่ม อาโทรพอด ทุกชนิดจะมีเปลือกที่เราเรียกว่าcuticle สร้างจากแคลเซียมคาร์บอเนตมาปกคลุมลำตัว

และร่างกายของcrayfish นั้นจะสามารถแบ่งออกได้เป็นสามส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนกลางหรือthorax คือส่วนที่มีขาสำหรับเดิน สุดท้ายคือส่วนท้องคือส่วนที่มีเนื้อไว้สำหรับรับประทานนั่นเอง แต่ส่วนหัวและส่วนกลางจะถูกผนึกรวมติดกันเป็นชิ้นเดียว เรียกว่าcephalothorax ด้วยเหตุนี้บางคนก็อาจจะบอกว่าลำตัวของcrayfish นั้นมีแค่สองส่วนก็ได้

crayfish จะมีเปลือก(carapace) ที่ทำหน้าที่คล้ายๆ ชุดเกราะคลุมลำตัว ส่วนหัวและส่วนกลาง ชุดเกราะcarapaceนี้ มีสองหน้าที่คือไว้ปกป้องอวัยวะภายในที่บอบบางอย่างเหงือกหายใจ ที่มีลักษณะคล้ายขนนกบริเวณใกล้ๆปาก สองคือทำหน้าที่สำคัญในระบบหายใจ คือเป็นทางผ่านของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านช่องเหงือกนั่นเอง ส่วนขาอันมากมายของcrayfishนั้น จะถูกแบ่งออกเป็นสองหน้าที่คือขาเดิน(walking legs หรือ Paraeopods) และขาว่ายน้ำ(swimmerets หรือ Pleopods) สำหรับขาเดินจะมี 5 คู่ด้วยกัน โดยขาเดินคู่แรกสุดถูกพัฒนาขึ้นเป็นก้าม(Claw หรือ Cheliped) ที่แข็งแรงใหญ่โตนั่นเอง ส่วนขาว่ายน้ำนั้นจะเป็นแผ่นแบนๆ มีไว้สำหรับโบกน้ำที่มีออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อการหายใจ รวมทั้งโบกพัดแพลงค์ตอนเข้าหาลำตัว เพื่อเป็นอาหารอีกด้วย สำหรับกุ้งตัวเมียขาว่ายน้ำมีความสำคัญมากกว่านั้น มันจะใช้ขาว่ายน้ำเป็นที่ๆ อุ้มไข่ที่ถูกปฏิสนธิแล้ว


                                                                           ถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติ

Crayfish นั้นมีถิ่นกำเนิดกว้างขวางมาก ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเซียตะวันออก และออสเตรเลีย ในปัจจุบันมีการบรรยายอนุกรมวิธานของ Crayfish ไปมากกว่า500ชนิดแล้ว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งนั้นเป็นCrayfish ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ ในธรรมชาติCrayfish จะอาศัยกกตัวอยู่ตามโขดหินหรือใต้ ขอนไม้อยู่ในทั้งลำธาร หนองน้ำ หรือแม้กระทั่งทะเลสาป

พูดมาถึงจุดนี้แล้วหลายๆท่านอาจจะยังสังสัยว่า เอ๊ะ!ไอ้Crayfishที่ว่านี่มันคือตัวอะไร ทำไมชื่อไม่ค่อยคุ้นหู จริงๆแล้วเจ้าCrayfish ที่กำลังกล่าวถึงนี้เชื่อว่าทุกๆ คนนั้นรู้จักมันในนามของกุ้งล็อบสเตอร์น้ำจืดนั่นเอง

ในบทความนี้เราจะขอจำแนกCrayfish แบบคร่าวๆละกัน ซึ่งแบบที่เข้าใจง่ายที่สุดน่าจะเป็นการแบ่งตามโซนถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือProcambarus ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาและยุโรป อีกกลุ่มหนึ่งคือCherax ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในโซน ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย  ส่วนการเลี้ยงดูCrayfish ทั้งสองกลุ่มนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน จึงจะขอกล่าวรวมๆทีเดียวไปเลย


                                                                                 ตู้เลี้ยง
ในกรณีที่ต้องการเลี้ยงCrayfish รวมกันหลายๆตัว ควรจะเลี้ยงในตู้ปลาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่หน่อย อย่างเช่น ตู้ปลาขนาด24 นิ้วขึ้นไป เนื่องจากCrayfishนั้นมีนิสัยหวงถิ่นและค่อนข้างก้าวร้าว จึงต้องการตู้ เลี้ยงที่ค่อนข้างใหญ่หน่อยเพื่อให้กุ้งแต่ละตัวได้สร้างอาณาเขต ถ้าเลี้ยงในตู้ขนาดเล็ก อาจพบว่าจะมีการตบตี แย่งชิงที่อยู่ ก้ามใหญ่โตทั้งสองข้างนั้นไม่ได้มีไว้แค่ความสวยงามอย่างแน่นอน โดย Crayfishจะใช้ก้ามต่อสู้กันจนก้ามหัก ขาขาด บาดเจ็บหรือกระทบกระทั่งกันบาดเจ็บปางตายได้

เมื่อเลี้ยงCrayfishรวมกันอย่างหนาแน่น จะพบว่าCrayfishขนาดเล็กๆ มักจะถูกรังแกและมีโอกาสที่จะถูกCrayfishที่มีขนาดใหญ่กว่ากินเป็นอาหารได้ การเลี้ยงในตู้เลี้ยงขนาดใหญ่จะช่วยลดโอกาสที่กุ้งแต่ละตัวจะโคจรมาพบกันและต่อสู้ กันได้ นอกจากนี้ผู้เลี้ยงควรจะใส่ขอนไม้ กระถางต้นไม้แตกๆ กะลามะพร้าวที่เจาะเป็นโพรง หรือท่อพีวีซีตัด เป็นท่อนๆเพื่อให้เจ้าCrayfish ได้พักพิงหลบอาศัยในเวลากลางวัน ปกติแล้วช่วงกลางวันมันจะหาที่หมกตัวอยู่เงียบๆ แต่Crayfishจะออกมาจากที่ซ่อนเพื่อหาอาหารในเวลากลางคืนมากกว่า ผู้เลี้ยงอาจจะใส่วัสดุหลบซ่อนตัวไว้คนละมุมตู้เพื่อให้กุ้งได้สร้างอาณาเขตของตนได้ชัดเจนมากขึ้น  เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว อาณาเขตการหาอาหารของCrayfishแต่ละตัว จะครอบคลุมพื้นที่ประมาณ40เซนติเมตร

นอกจากนี้Crayfishยังขึ้นชื่อว่าเป็นจอมหายตัว ผู้เลี้ยงหลายๆท่านอาจจะตื่นเช้าขึ้นมาพบว่าเจ้าล๊อบสเตอร์ที่เลี้ยงไว้ ได้หายสาปสูญไป สันนิษฐานได้เลยว่าเจ้ากุ้งน้อยได้เล่นกายกรรมไต่สายออกซิเจนหลบหนีไปแล้ว ค้นหาดีๆจะพบซากกุ้งน้อยตากแห้งอยู่ใกล้ๆก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นตู้เลี้ยง Crayfish ควรจะมีฝาปิดให้มิดชิดด้วย



                                                                               วัสดุปูรองพื้น
ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงCrayfishในตู้ที่ปล่อยพื้นตู้โล่งๆได้เลย ก็เป็นทางเลือกที่สะดวกดี อาจจะใส่ท่อพีวีซีลงไปตามจำนวนกุ้งที่เลี้ยงแค่นั้น เพื่อให้กุ้งได้ หลบซ่อนบ้าง บางท่านที่อาจจคำนึงถึงความสวยงามมากกว่าความสะดวกสะบายในการดูและรักษา อาจจะใช้กรวดปูพื้นตู้ได้ แต่มักพบว่าCrayfish จะมีอุปนิสัยชอบขุดคุ้ยกรวด เพื่อสร้างเป็นรังหลบซ่อนในเวลากลางวัน ในที่สุดพื้นกรวดที่จัดเรียงไว้สวยงามก็จะเป็นหลุมบ่อเหมือนโลกพระจันทร์ไปในที่สุด แต่สำหรับผู้เลี้ยงที่รักที่จะใส่กรวดแล้ว ควรปูกรวดให้หนาประมาณ5เซนติเมตร  เพื่อให้มีความหนาพอสมควรที่Crayfishจะได้ขุดกลบลำตัวได้ อาจจะใช้หินขนาดใกญ่วางซ้อนๆ เป็นโพรงก็ดูสวยงามเช่นกัน แต่ควรจะจัดวางหินตกแต่งให้มีความมั่นคง ป้องกันการพังทลายที่เกิดจากการทรุดตัวของกรวดที่เจ้ากุ้งทั้งหลายขุดคุ้ยด้วย บางคนอาจจะสงสัยว่าใช้ทรายได้ไหม ขอตอบว่าไม่เหมาะสม เพระพื้นทรายนั้นจะมีความหนาแน่นสูง เจ้าCrayfishจอมขุด อาจจะมุดลงไปแล้วจมหายไปชั่วกาลนานเลย เนื่องจากน้ำสะอาดที่มีออกซิเจน ไม่สามารถลงไปถึงใต้ชั้นทราย กุ้งทั้งหลายก็จะขาดอากาศหายใจไปเอง

                                                               ระบบให้อากาศและระบบกรองน้ำ
จริงๆแล้วผู้เลี้ยงไม่จำเป็นที่จะต้องติดตั้งปั้มออกซิเจนในตู้เลี้ยงก็ได้ ในกรณีที่เลี้ยงกุ้งจำนวนไม่มากนัก อย่างที่เราๆเห็นกันจนคุ้นตาในตลาด ปลาสวย งามที่ขายCrayfishกันในกระบะพลาสติกรองน้ำเพียงตื้นๆ Crayfishก็อยู่อาศัยอย่างแฮปปี้แล้ว แต่ระบบให้อากาศที่ดีก็มักจะส่งผลต่อสุขภาพที่ดีของกุ้งในระยะยาวด้วย เพราะฉะนั้นใครจะสะดวกที่จะติดตั้งระบบอากาศก็ตามสบายเลย  แต่ไม่ต้องถึงกับปล่อยอากาศให้น้ำกระเพื่อมรุนแรงจนดูเหมือนอ่างจากุชชี่ เอาแค่เป็นฟองเบาๆก็พอ ส่วนระบบกรองน้ำนั้นผู้เลี้ยงอาจใช้ระบบกรองราคาถูกและติดตั้งง่ายๆ อย่างกรองบน กรองแขวน หรืออาจจะใช้กรองฟองน้ำที่เป็นตุ้มๆสีดำก็เพียงพอ ส่วนระบบกรองแบบกรองใต้ตู้นั้นอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ เพราะว่ามักจะขุดกรวดขึ้นมาจนเห็นแผ่นกรอง ทำให้ระบบกรองทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่

                                                                                    น้ำ
อุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยงCrayfish คือช่วง 23-28องศาเซลเซียล ค่าPHที่เหมาะสมคือประมาณ PH7.5 - 10.5ที่มีความกระด้างสูง ผู้เลี้ยงสามารถใส่เกลือลงไปในตู้ได้ นอกจากนี้เกลือยังช่วยเสริมแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อการลอกคราบและสร้างเปลือกใหม่ด้วย สำหรับการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ผู้เลี้ยงควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อยๆแต่ทีละน้อยๆ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงอุณภูมิฉับพลัน น้ำที่ใช้ควรจะสะอาดและปราศจากคลอรีนด้วย

                                                                                 อาหารการกิน
Crayfish นั้นเป็นOmnivores คือสามารถกินอาหารได้แทบทุกชนิด แต่ในธรรมชาติมันจะกินอาหารประเภทพืชผัก รากไม้ ใบไม้ ผลไม้เป็นหลัก ในที่ เลี้ยงผู้เลี้ยงสามารถให้ ข้าวโพด มันฝรั่ง ถั่วลันเตา ฟักทอง แอปเปิ้ลได้ พรรณไม้น้ำที่ใช้ตกแต่งตู้อาจโดนรื้อทึ้งเป็นอาหารได้ เพราะฉะนั้นไม่สมควรใส่ลงไป เพราะเจ้าCrayfishอาจจะฉีกทำลายได้ ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศนั้นแนะนำให้ผู้เลี้ยงให้ ใบโอ๊ค (หรือชื่อไทยๆ ก็ใบหูกวางนี่แหละ)ตามโอกาส เพราะเชื่อว่าใบหูกวางสามารถป้องกันรักษาโรคตามธรรมชาติของเจ้าCrayfish

นอกจากอาหารผักแล้วอาจจะให้อาหารประเภทเนื้อสัตว์ร่วมด้วยเช่น เนื้อ ไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา เนื้อกุ้งทะเลหรือกุ้งฝอยหั่นชิ้นเล็กๆได้ ถ้าให้ง่ายยิ่งไปกว่านั้นอาหารเม็ดสำเร็จรูปชนิดจมสูตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสูตรปลาทอง ปลากินเนื้อ ปลาซักเกอร์หรือของปลาแพะทั้งหมดนั้น จะเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างสะดวกและCrayfishก็ชอบกินด้วย

สรุปสั้นๆว่าจะให้อาหารประเภทไหนCrayfishนั้นไม่เรื่องมาก ใส่อะไรลงไปก็สามารถคีบกินได้ทั้งนั้น สำหรับความถี่ในการให้อาหารนั้นไม่ต้องให้บ่อย อาจจะให้อาหารเพียงแต่ชิ้นสองชิ้นสำหรับกุ้งหนึ่งตัว ทุกๆ2-3 วันก็เพียงพอ ให้น้อยๆให้เจ้าCrayfishกินหมด ดีกว่าให้เยอะแล้วเศษอาหารตกค้าง น้ำจะเน่าเสียเปล่าประโยชน์ เพราะCrayfishในธรรมชาตินั้นไม่กินอาหารทุกวัน สำหรับการให้อาหารนั้นควรจะให้เวลากลางคืน เพราะCrayfishจะออกหากินในเวลากลางคืน และCrayfishยังสามารถเรียนรู้ที่จะมาขออาหารจากผู้เลี้ยงได้อีกด้วย โดยจะมาอ้าแขนชูก้ามโตๆ รอเวลาอาหาร ผู้เลี้ยงสามารถฝึกป้อนอาหารCrayfishด้วยมืออีกด้วย แต่ต้องใช้เวลาสร้างความคุ้นเคยสักนิด

ในกรณีคุณภาพน้ำเริ่มเน่าจากเศษอาหารตกค้างCrayfish จะเริ่มแสดงอาการของโรคเปลือกขาว โดยคราบขาวๆจะเริ่มก่อตัวที่บริเวณส่วนหางและ กระจายไปครอบคลุมทั้งลำตัวและอาจตายได้ เพราะฉะนั้นควรรักษาคุณภาพน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ


                                                                                การเพาะพันธุ์
ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านที่เลี้ยงCrayfishอยู่ อาจจะมีประสบการณ์เห็นลูกกุ้งตัวจิ๋วๆ ออกเดินเพ่นพ่านทั่วตู้กันมาแล้ว เพราะว่ากุ้งCrayfishนี้สามารถ เพาะพันธุ์ได้อย่างไม่ยากนัก หลายๆครั้งที่มีโอกาสเดินผ่านร้านขายปลาแล้วเห็นเจ้าCrayfishคู่ผัวตัวเมีย นัวเนียปฏิบัติการเฉพาะกิจต่อหน้าธารกำนัลในกระบะกันอย่างโจ่งแจ้งเลยทีเดียว Crayfishนั้นทำการผสมพันธุ์ตลอดปี ผู้เลี้ยงสามารถขยายพันธุ์Crayfishในตู้เลี้ยงได้ง่ายๆ เพียงแค่ขอให้มั่นใจได้ว่าได้เลือกซื้อCrayfishมาเป็นคู่เพศผู้ - เพศเมีย กระบวนการนั้นไม่ต้องพิธีรีตองอะไร เช่นเดียวกับการเพาะพันธุ์กุ้งแคระ แค่นำกุ้งเพศผู้ - เพศเมีย หรือพ่อแม่พันธุ์ปล่อยรวมกันก็พอ

วิธีจำแนกเพศได้แน่นอนที่สุดคือจับมันหงายท้องแล้วสังเกตอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่าgonopodsที่ช่วงขาเดินค่ะ โดยกุ้งตัวผู้มีอวัยวะคล้ายตะขอบริเวณขาเดินคู่ที่2 และ 3 ซึ่งตะขอนี้มันจะเอาไว้เกี่ยวเกาะตัวเมียตอนผสมพันธุ์ สังเกตที่บริเวณขาเดิน ถ้าเป็นเพศผู้จะมีอวัยะสืบพันธุ์(papillae) บริเวณขาเดินคู่สุดท้าย(คู่ที่ 4) ส่วนตัวเมียจะมีอวัยะสืบพันธุ์(annulus ventralis) เป็นแผ่นทรงวงรีสีขาวๆ ขนาดประมาณ1-2 มม. บริเวณขาเดินคู่ที่3 นอกจากนี้บริเวณขาว่ายน้ำคู่แรกและคู่ที่2ของตัวผู้จะถูกพัฒนาขึ้นเป็นแขนเล็กๆสองข้าง (petasma)มีไว้สำหรับส่งผ่านถุงน้ำเชื้อไปยังตัวเมีย

การจำแนกเพศตัวผู้เมีย โดยการสังเกตจากแขนที่ไว้ส่งผ่านน้ำเชื้อ หรือpetasmaสามารถใช้ได้กับCrayfishที่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปอเมริกาและ ยุโรปเท่านั้น ส่วนCrayfishที่มีถิ่นกำเนิดในโซนออสเตรเลียจะไม่มีอวัยวะดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีสังเกตgonopodsบริเวณโคนขาเพียงอย่างเดียว

สรุป ถ้าท่านผู้อ่านต้องการเลือกซื้อCrayfish เป็นคู่เพศผู้ - เพศเมีย เพียงแค่จับกุ้งหงายท้อง ดูแค่ให้กุ้งทั้งสองตัวมีอวัยวะสืบพันธุ์บริเวณโคนขาที่ แตกต่างกันก็พอ

การผสมพันธุ์จะเริ่มโดยตัวผู้จะเข้าประกบตัวเมียทางด้านหลัง และพลิกลำตัวเพศเมียให้หงายท้องแล้วตัวผู้จะเข้าประกบโดยใช้ตะขอพิเศษที่ขาเดินล็อคตัวเมียเอาไว้ในท่วงท่าท้องชนท้อง หันหัวไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากนั้นตัวผู้จะส่งผ่านถุงน้ำเชื้อไปปะติดไว้บริเวณท้องของตัวเมีย กระบวนการที่กุ้งทั้ง สองตัวนอนกอดกันแน่นนี้จะยาวนานหลายนาทีอยู่(พฤติกรรมการกอดผสมพันธุ์ของProcambarusจะยาวนานกว่า10นาที ในขณะที่cheraxจะกิน เวลาสั้นกว่าเพียงแค่1-2นาทีเท่านั้น) หลังจากนั้นภารกิจของตัวผู้ก็สิ้นสุด ผู้เลี้ยงสามารถย้ายเจ้ากุ้งตัวเมียไปยังตู้อนุบาลเลยก็ได้ เพื่อเป็นการเตรียมที่อยู่สำหรับลูกกุ้งน้อยๆในอนาคต หลังจากนั้นตัวเมียจะคอยผลิตไข่ขึ้นมาไว้บริเวณขาว่ายน้ำเป็นกระจุกๆ มองคล้ายพวงองุ่น

หลังจากนั้นไม่นานเนื้อเยื่อบางๆ ที่หุ้มถุงน้ำเชื้อที่กุ้งตัวผู้ได้นำมาติดไว้จะสลายลงปล่อยเจ้าสเปิร์มไซส์จิ๋วเพื่อให้ไข่ได้รับการปฏิสนธิ หลังจากที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว ตัวเมียจะหาที่หลบซ่อนนอนนิ่งไม่ยอมกินอะไร ระยะเวลาที่ตัวอ่อนใช้ในการพัฒนารูปร่างนั้นจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ปริมาณอาหาร และคุณภาพน้ำด้วย แต่โดยเฉลี่ยไข่จะพัฒนาจนเป็นตัวอ่อนที่มีหน้าตาเหมือนโตเต็มวัยภายใน3-4สัปดาห์ หลังจากนั้นลูกกุ้งจะถูกปล่อยให้ว่ายน้ำเป็นอิสระ ในการผสมพันธุ์ในแต่ละครั้งแม่กุ้งสามารถให้ลูกได้มากถึง300ตัวเลยทีเดียว ซึ่งพ่อแม่กุ้งนั้นค่อนข้างเป็นพ่อแม่ที่ดีโดยจะไม่มีพฤติกรรมกินลูกกุ้งเป็นอาหาร แล้วตัวลูกกุ้งเองก็มักจะอาศัยไม่ไกลจากพ่อแม่ของมันนัก เพื่อที่จะคอยเก็บกินเศษอาหารที่เหลือจากพ่อแม่นั่นเอง


                                                                               การอนุบาลตัวอ่อน
ตัวอ่อนของCrayfishจะมีขนาดประมาณ2-3มิลลิเมตรโดยจะกินเศษอาหารก้นตู้เป็นอาหารหลัก ผู้เลี้ยงสามารถให้อาหารเสริมเช่น ไส้เดือนฝอย ไรทะเล หรืออาหารเนื้อสัตว์อย่าง เนื้อปลา เนื้อกุ้งฝอยสับละเอียด แต่ควรระวังเรื่องคุณภาพน้ำให้ดี อย่าปล่อยเศษอาหารเหลือทิ้งไว้จนเน่าเสีย ควรเปลี่ยนใหม่ทุกวัน แต่อย่างไรก็ตามผู้เลี้ยงควรจะให้อาหารให้เพียงพอ เพราะตัวอ่อนจะมีพฤติกรรมกินกันเอง มันจะเล่นเกมส์The survivorผู้อ่อนแอต้องสละชีพในที่สุด ตู้อนุบาลตัวอ่อนก็ควรจะมีพื้นที่และวัสดุหลบซ่อน เช่นเดียวกับการเลี้ยงดูตัวเต็มวัย ใส่ท่อพีวีซี หรือ รากไม้ ขอนไม้ กระถางต้นไม้ลงไปเยอะๆ เพื่อเป็นที่แอบซ่อน เพราะว่าในช่วงเดือนแรกของชีวิตลูกกุ้งทั้งหลาย จะทำการลอกคราบบ่อยมาก หมายความว่าทุกครั้งที่ลำตัวอ่อนนิ่มก็จะมีเปอร์เซ็นต์ถูกพี่ๆน้องๆกินเป็นอาหารมากขึ้น การคัดแยกขนาดลูกกุ้งหลังจากหนึ่งเดือนแรก จะเพิ่มอัตรารอดชีวิตของลุงกุ้งได้มากขึ้น เมื่อลูกกุ้งมีอายุได้ราวๆหนึ่งเดือน จะเริ่มแสดงสีสันสดใสเหมือนตัวโตเต็มวัย
                                                                               การลอกคราบ
การลอกคราบนั้นถือเป็นกระบวนการสำคัญ ขั้นตอนหนึ่งในการเจริญเติบโตของเหล่าCrayfish ทั้งหลาย การลอกคราบนั้นแสดงถึงขนาดลำตัวที่เติบ ใหญ่มากขึ้น ลูกกุ้งจะทำการลอกคราบประมาณเดือนละครั้ง โดยระยะห่างในการลอกคราบแต่ละครั้งจะค่อยๆยาวนานขึ้นเมื่อกุ้งเติบโตขึ้น ยิ่งแก่ขึ้นก็ยิ่งลอกคราบน้อยลง โดยCrayfishที่โตเต็มที่นั้นจะลอกคราบเพียงปีละครั้งเท่านั้น ผู้เลี้ยงสามารถสังเกตได้ว่าช่วงที่Crayfishนั้นกำลังจะลอกคราบคือมันจะกินอาหารน้อยลง สีสันของลำตัวเริ่มหมองคล้ำลง และจะหาที่ปลอดภัยสำหรับหลบซ่อน และค่อนข้างอยู่นิ่งๆ เพราะว่าช่วงลอกคราบนั้นCrayfishจะตัวนิ่ม และอ่อนแอมาก อาจถูกกุ้งตัวอื่นจับกินเป็นอาหารได้

เจ้าCrayfishจะค่อยๆเซาะเปลือกชุดเก่าออกมาทางช่วงหาง และบริเวณจะโผล่ออกมาเป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจะกระดึ๊บๆถอยหลังไล่ไปเรื่อยจนถึงส่วนหัวซึ่งเป็นลำดับสุดท้าย โดยเปลือกชุดเก่ามักจะถูกกินโดยกุ้งตัวอื่น เพื่อเป็นแหล่งแคลเซียมสำหรับการลอกคราบครั้งต่อไป หลังจากที่สลัดชุดเกราะอันเก่าออกแล้ว เจ้าCrayfishจะยังนอนตัวนิ่มอยู่ในที่ปลอดภัยประมาณอีก2-3วัน จนกว่าเปลือกจะแข็งเป็นปกติ

เปลือกแข็งขึ้นได้อย่างไร???  ก็ผ่านกระบวนการแข็งตัวของไคติน(chitin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเปลือกซึ่งได้มาจากการดูดซึมแคลเซียมคาร์บอเนตนั่นเอง โดยก้ามจะเป็นส่วนแรกที่แข็งตัว จากนั้นจึงเริ่มไปบริเวณลำตัว หลังที่สวมชุดเกราะชุดใหม่อย่างสมบูรณ์แล้วCrayfish จึงจะมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม ออกมาเดินนวดนาดเผยโฉมออกหาอาหารกินตามเดิม

ไม่ว่าจะเป็นก้าม ขาเดิน หรือขาสำหรับว่ายน้ำที่อาจจะหลุดหักไปจากการต่อสู้หรือการขนย้าย Crayfishจะซ่อมแซมตัวมันเอง โดยการสร้างขึ้นมาใหม่ได้ โดยผ่านกระบวนการลอกคราบ ในกรณีที่เป็นอวัยวะชิ้นใหญ่ๆอย่างก้ามหลุดขาดไป อาจจะต้องใช้เวลาลอกคราบถึง2-3ครั้ง ถึงจะสามารถสร้างก้ามใหม่ ที่มีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ส่วนการบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆ อย่างขาหลุด ขาหักนั้น การลอกคราบเพียงครั้งเดียวก็สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้

 เมื่อผู้เลี้ยงสังเกตเห็นว่าCrayfishกำลังลอกคราบ ไม่ควรจะไปทำการรบกวนมัน เพราะว่าอาจเป็นการทำลายความต่อเนื่องของกระบวนการลอกคราบ ซึ่งเมื่อCrayfishตกใจจะทำให้กระบวนการลอกคราบไม่สมบูรณ์เต็มที่ โดยชิ้นส่วนของเปลือกชุดเก่ามักจะยังติดตาอยู่บริเวณก้าม ในขณะที่เปลือกชุดใหม่ก็เริ่มแข็งตัว อาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น เปลือกสองชั้นนั้นซ้อนทับกันอยู่ จึงอาจจะทำให้ก้ามชุดใหม่มีการขึ้นผิดรูป เบี้ยวๆงอๆไปบ้าง ดังนั้นควรงดรบกวนCrayfishเวลาลอกคราบ เราควรเป็นผู้ชมที่ดีรอชมCrayfishในชุดเกราะชุดใหม่ทีเดียวเลย จะเข้าท่ากว่า


                                                             การเลี้ยงรวมกับCrayfishชนิดอื่นๆ
ผู้เลี้ยงไม่ควรเลี้ยงCrayfishที่มีถิ่นกำเนิดต่างกันไว้ด้วยกัน เพราะว่าจากประสบการณ์นั้นProcambarusที่มาจากทวีปอเมริกานั้น ค่อนข้างมี อุปนิสัยก้าวร้าวมากกว่า(ทั้งระหว่างพวกเดียวกันเองและระหว่างญาติจากต่างทวีป) เมื่อนำProcambarusมาเลี้ยงรวมกับCheraxที่มาจากทางทวีปออสเตรเลียแล้ว พบว่าญาติฝั่งออสเตรเลียที่มีนิสัยเรียบร้อยสงบเงียบกว่า มีโอกาสถูกระรานจับกินเป็นอาหารมากกว่า ในทางกลับกันการเลี้ยงCrayfishหลายชนิดในกลุ่มเดียวกันรวมกันหลายๆตัว ก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้มีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ขึ้น เกิดเป็นกุ้งHybridที่มีสีสันแปลกใหม่ขึ้นมาได้ โดยในปัจจุบันก็มีกุ้งHybridสีสันแปลกตาขึ้นมาหลายชนิดมาจำหน่ายมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ควรจะเลี้ยงCrayfishที่มีขนาดเท่าๆกัน หรือใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน ไม่เช่นนั้นสุดท้ายแล้วจะเหลือกุ้งผู้ชนะครองตู้เพียงตัวเดียว เจ้าตัวเล็กๆทั้งหลายจะจบชีวิตด้วยการเป็นอาหารว่างมื้อหนึ่งเท่านั้น


                                                              การเลี้ยงรวมกับปลาสวยงาม
ถึงแม้ว่าในธรรมชาตินั้นCrayfish จะเก็บเศษซากพืชซากสัตว์กินเป็นอาหารหลัก แต่ในที่เลี้ยงสถานที่ที่มีอาหารอย่างจำกัดนั้น มันจะจับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ กินเป็นอาหารได้ทุกเมื่อที่มีโอกาส เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านจึงไม่ควรเลี้ยงCrayfishรวมกับปลาสวยงามที่อาศัยอยู่บริเวณก้นตู้ หรือปลาสวยงามที่ว่ายเนิบนาบเชื่องช้า เพราะปลาเหล่านี้อาจจบชีวิตในฐานะอาหารมื้ออร่อยของเจ้าCrayfishทั้งหลายได้

ท่านผู้อ่านสามารถเลี้ยงCrayfishรวมกับปลาสวยงามขนาดกลาง ที่ว่ายน้ำบริเวณกลางน้ำหรือผิวน้ำได้เป็นอย่างดี และเน้นว่าต้องมีนิสัยไม่ดุร้าย ไม่เช่นนั้นอาจจะพบว่าCrayfishที่สามารถจับกินปลาตัวเล็กๆได้อยู่แหม่บๆนั้น ถูกรุมกินโต๊ะถูกกระชากไปทางซ้ายโดยเจ้าฟลาวเวอร์ฮอร์นก้ามหลุด ถูกทึ้งมาทางขวาโดยเจ้าเรดเทกซัสขาขาด เหลือแต่เปลือกจบชีวิตแบบที่ไม่ต่างไปจากกุ้งฝอย ที่เราๆใช้เป็นเหยื่อปลาทั่วไป

Crayfishจะอาศัยแต่บริเวณก้นตู้ จึงไม่สามารถขึ้นไประรานปลาสวยงามบริเวณกลางน้ำได้ นอกจากนี้Crayfishยังอาจทำหน้าที่เป็นพนักงานเทศบาล ช่วยเก็บเศษอาหารก้นตู้ได้เป็นอย่างดี โดยCrayfishที่มาจากทวีปอเมริกาจะมีนิสัยชอบจับปลากินเป็นอาหารมากกว่า ญาติที่มาจากทางออสเตรเลีย


                                                                       วิธีการเลือกซื้อ Crayfish
1. ควรจะมีอวัยวะสำคัญต่างๆครบสมบูรณ์คือ ดวงตาและก้ามครบ2ข้าง ขาเดินครบทั้ง5คู่ เพราะการที่มีอวัยวะไม่ครบ แสดงถึงความสามารถในการหาอาหารและป้องกันตัวเองที่ลดน้อยลง อาจจะทำให้Crayfishอ่อนแอ ตกเป็นอาหารของตัวอื่นๆได้ง่าย
2. Crayfishควรจะมีเปลือกลำตัวแข็ง ไม่อยู่ในช่วงระยะลอกคราบที่ร่างกายค่อนข้างอ่อนแอ
3. Crayfishที่แข็งแรงควรมีการแสดงปฏิกิริยาป้องกันตัวเมื่อถูกรบกวน เช่น การยกก้ามคู่ป้องกันตัวเอง หลบหนีด้วยการดีดลำตัวอย่างว่องไวหรือ พยายามปีนป่ายหนีเมื่อนำมาใส่ภาชนะ

ขอขอบคุณ 
http://aqua.c1ub.net/forum/index.php?topic=9.0

10 ความคิดเห็น:

  1. เลี้ยงไว้ทำหม้อไฟ ต้มยำกุ้ง น่าจาอาหย่อย หึหึ :3

    ตอบลบ
  2. ละเอียดมาก ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  3. ละเอียดมาก ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  4. ฝากด้วยนะคับ กุ้งสวยงามเครฟิชจันทบุรี โกสแท้โกสส้ม กุ้งก้ามแดงฯ และวิธีการเลี้ยงเบื้องต้นคับ
    https://www.facebook.com/ampholcrayfish

    ตอบลบ
  5. ฝากด้วยนะคับ กุ้งสวยงามเครฟิชจันทบุรี โกสแท้โกสส้ม กุ้งก้ามแดงฯ และวิธีการเลี้ยงเบื้องต้นคับ
    https://www.facebook.com/ampholcrayfish

    ตอบลบ
  6. ขอบคุนมากครับ.กำลังริเริ่มลย. ^^

    ตอบลบ
  7. ขอบคุนมากครับ.กำลังริเริ่มลย. ^^

    ตอบลบ
  8. รูปโกสสวยดีครับ ถ่ายเองหรอครับ

    ตอบลบ
  9. พอจะมีวิธีสังเกตุเพศ ลงเดิน บางไหมคับ

    ตอบลบ